ปลากัดภาคกลาง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบ Ctenoid ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่มีขนาดตื้นพื้นที่เล็กทั้งในภาคกลางและภาคเหนือในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง
มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สายพันธุ์ปลากัด
ปลากัดจีน
เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน เข้าใจว่าอาจมาจากลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่ายสีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน ปลากัดจีนเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับ หรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ แต่ไม่มีการบันทึกไว้ว่า การพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ปลากัดชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ๆ ออกมาอีกมากมายปลาป่าหรือปลากัดลูกทุ่ง
เป็นปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามท้องนา และหนองบึง เป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นมากนัก ส่วนมากครีบ และหางมีสีแดงเกือบตลอด มีประสีดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีแต้มสีเขียวอ่อนๆ เรียงต่อกันเป็นเส้นสีเขียวๆ ที่ครีบหลัง เวลาถอดสี ทั้งตัวและครีบจะเป็นสีน้ำตาลด้านๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ในปัจจุบันคำว่า “ปลาป่า” หมายความรวมถึงปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน และปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ด้วยปลาสังกะสี และ ปลากัดลูกหม้อ
เป็นปลากัดที่นักเพาะพันธุ์ปลาได้นำมาคัดสายพันธุ์ โดยมุ่งหวังจะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่าของหลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบ สุวรรณนคร) ซึ่งเป็นนักเลงปลาเก่าเชื่อว่า ปลาสังกะสีและปลาลูกหม้อน่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๔๓๐ โดยท่านจำได้ว่าก่อนหน้านั้นยังต้องจับปลาป่ามากัดพนันกันอยู่ ต่อมานักเลงปลาบางคนก็เริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่อาศัยอยู่ตามรูปูในฤดูแล้ง มาขังไว้ในโอ่ง และเลี้ยงดูให้อาหาร พอถึงฤดูฝน ก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่นำมาเลี้ยงไว้ไม่ได้ การเล่นปลาขุดยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกเรียกว่า “ปลาสังกะสี” ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงาม ก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมาในชุดต่อไป จะได้ปลาที่เรียกว่า “ปลาลูกหม้อ”ที่เรียกว่า ปลาสังกะสี สันนิษฐานว่าน่าจะได้ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกัดเหมือนปลาป่า ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ มีสีสันลักษณะต่างจากปลาป่า แต่ส่วนมากมีชั้นเชิงและความอดทนในการกัดสู้ปลาลูกหม้อไม่ได้
ส่วนที่เรียกว่า ปลาลูกหม้อ นั้น น่าจะมาจากการนำหม้อดินมาใช้ในการเพาะและอนุบาลปลากัดในระยะแรกๆ ปลาลูกหม้อจึงเป็นปลาสายพันธุ์ที่สร้างมาโดยนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้ และมีสีสันที่สวยงามตามความพอใจของเจ้าของ ปลาลูกหม้อมีรูปร่างหนาใหญ่กว่าปลาป่าและปลาสังกะสี ส่วนมากสีจะเป็นสีน้ำเงิน สีแดง สีเทา สีเขียว สีคราม หรือสีแดงปนน้ำเงิน ครีบหางอาจเป็นรูปมนป้าน หรือรูปใบโพธิ์ การเล่นปลากัดในสมัยก่อนนั้น ปลาลูกหม้อแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ “ลูกแท้” และ “ลูกสับ” ลูกแท้หมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากครอกเดียวกัน ส่วนลูกสับหมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากต่างครอกกัน